อาการของผู้เสพยาแต่ละประเภท

Addicted brain


ผู้เสพติดยาเสพติดอาจมีลักษณะและความประพฤติที่อาจสังเกตเห็นได้ แตกต่างกันไปได้ตามประเภทของยาเสพติดที่เสพ ดังต่อไปนี้


 

    1.การสังเกตอาการของผู้เสพหรือติดยาบ้า

การเสพยาบ้าผู้เสพอาจจะไม่เกิดอาการเสพติดในสองครั้งแรกที่เสพเหมือนการเสพเฮโรอีนแต่เมื่อใช้ไปเป็นระยะเวลานาน จะทำให้ร่างกายเสื่อมโทรมลง
เนื่องจากร่างกายไม่ได้รับการพักผ่อนเพราะไม่สามารถนอนหลับได้และยายังไปทำลายระบบประสาทอีกด้วย การสังเกตอาการของผู้ติดยาบ้าสามารถสังเกตได้ดังนี้

    (1) อาการทางร่างกาย

    1.1 ผู้ป่วยมักจะผอมลงน้ำหนักลดโดยเฉพาะรายที่ใช้มากและใช้มาเป็นเวลานาน

    1.2 การดูแลความสะอาดร่างกายมักจะลดลง

    1.3 มีการเคลื่อนไหวเพิ่มมากขึ้นเช่น แขนขา ใบหน้า บางรายชอบกัดกราม บางรายไม่อยู่นิ่งเดินไปเดินมา

    (2) ด้านจิตใจ และอารมณ์

    2.1 เวลาไม่ได้เสพยามักจะมีอาการซึมเศร้าหรือหงุดหงิดได้ง่าย

    2.2 นิสัยเปลี่ยนไป เช่น จากเมื่อก่อนที่เป็นคนเรียบร้อย เชื่อฟังกลับกลายเป็นคนก้าวร้าว ดุดัน หงุดหงิดโมโหง่าย

    (3) ดูเรื่องการหลับการตื่น

    3.1 มักจะนอนดึกมากแล้วตื่นสายมากผิดปกติ เห็นได้ชัดในวันสุดสัปดาห์ (อาจมีการมั่วสุมใช้ยาในเย็นวันศุกร์)

    3.2 มักจะหลับในห้องเรียนหรือง่วงนอน ขาดสมาธิในการเรียน

    (4) ผลการเรียน

    4.1 ผลการเรียนโดยรวมจะลดลงจากเดิมเพราะขาดสมาธิและความจำจะมีประสิทธิภาพลดลง เพราะสมองได้เริ่มถูกทำลาย

    4.2 ความร่วมมือในกิจกรรมการเรียนลดลงขาดเรียนบ่อยและมักมาสาย

    (5) การคบเพื่อน

    5.1 คบเพื่อนที่ใช้ยาด้วยกันซึ่งมักจะเป็นกลุ่มเพื่อนที่ไม่ค่อยสนใจเรียน

    5.2 เมื่อผู้ป่วยรับโทรศัพท์มักจะระมัดระวังในการพูดเหมือนมีความลับ หรือเมื่อมีโทรศัพท์เข้ามา ถ้าคนอื่นรับสายมักจะเงียบไป ไม่ยอมพูดหรือสั่งข้อความไว้

    5.3 การคบเพื่อนมักจะมีลักษณะพากันเที่ยวกลางคืนและกลับดึก มีการใช้เหล้าบุหรี่ด้วย

    5.4 บางรายอาจจะมีเงินทองใช้จ่ายมากกว่าผิดปกติ โดยไม่มีแหล่งที่มาของเงินชัดเจน อาจเป็นไปได้ผู้ป่วยอาจจะเริ่มกลายเป็นผู้ค้ารายย่อย

   (6) อุปกรณ์การเสพ

    มักจะมีกระดาษฟลอย์ที่พับเป็นกรวยหรือกระทงพร้อมเทียนหรือไฟเช็คสำหรับเผายา และหลอดดูด ซึ่งอาจจะพบได้ในห้องน้ำหรือในกระเป๋า


2. การสังเกตอาการของผู้เสพหรือติดฝิ่น มอร์ฟีน เฮโรอีน

ผู้ที่เสพยาเสพติดประเภทนี้จะมีลักษณะที่สังเกตได้ชัดคือ ร่างกายซูบซีดผอมเหลือง นัยน์ตาเหลืองซีด ม่านตาหรี่ไม่กล้าสู้แสง (จึงมักสวมแว่นกันแดด) ริมฝีปากเขียวคล้ำ ง่วงเหงาหาวนอนตลอดเวลา และส่วนใหญ่จะมีอาการเฉยเมยต่อสิ่งแวดล้อม และสภาพการณ์ของตัวเอง หลายคนกลายเป็นคนฟุ้งซ่าน เกียจคร้าน
หรืออารมณ์เปลี่ยนแปลงได้ง่าย ถ้าสังเกตตามร่างกายอาจพบร่องรอยบางอย่าง เช่น จมูกแดง มีผงติดตามจมูก(ถ้าสูดเฮโรอีนผง) มีรอยเข็มด้านในท้องแขน (ถ้าฉีดเฮโรอีนเข้าเส้น) มักจะใส่เสื้อแขนยาว เพื่อปกปิดร่องรอยการฉีดยาบริเวณแขนหรือหลังมือทั้งสองข้าง โดยหลังจากใช้เฮโรอีนแล้ว ผู้เสพจะมีอารมณ์ดียิ้มง่าย ครื้นเครง ปากหวาน ถ้าใช้มากอาจนั่งสัปหงก นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์การเสพ เช่น กล้องฝิ่น ก้อนฝิ่นดำ ผงสีขาวในถุงในแคปซูล ช้อนคีบ กระบอกและเข็มฉีดยา ฯลฯ ซุกซ่อนอยู่ตามที่ปกปิดมิดชิด


3. การสังเกตอาการของผู้เสพหรือติดยาหลอนประสาท

ผู้เสพติดมักจะนอนหรือนั่งสลึมสลือบางรายมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านสายตา การรับรู้ และการสัมผัสทำให้กลายเป็นคนขี้ตระหนกตกใจ ขี้กลัว นอกจากนี้ยังมีน้ำลายออกมากฝ่ามือมีเหงื่อออก อารมณ์และนิสัยเปลี่ยนแปลงจากเดิมจนเห็นได้ชัด

4. การสังเกตอาการของผู้เสพหรือติดกัญชา

 ผู้เสพติดมักมีความคิดเลื่อนลอย สับสน อ่อนไหว อาจควบคุมตัวเองไม่ได้ บางครั้งแสดงอาการแปลกๆเพราะการรับรู้ภาพผิดปกติ บางรายที่เสพมากๆอาจมีอาการตื่นเต้นกระสับกระส่ายตลอดเวลา กล้ามเนื้อลีบ มือเท้าเย็น และหายใจขัดบ่อยๆ ในที่ส่วนตัวอาจพบว่าผู้เสพซุกซ่อนบ้องกัญชาหรือซุกซ่อนบุหรี่ ที่มีมวนบุหรี่รูปทรงผิดแปลกจากปกติ เช่น มวนหนาขึ้น กระดาษมีสีน้ำตาลเกือบขาว กระดาษมวนยับ (ไม่เรียบ) ปลายมวนบุหรี่ทั้งสองข้างจะถูกพับไว้ ไส้ในมวนบุหรี่ จะมีสีเขียวกว่าปกติ เป็นต้น บุหรี่ที่ยัดไส้กัญชานั้นเวลาสูบจะมีกลิ่นเหม็นเหมือนหญ้าหรือเชือกไหม้ไฟ

5.
 การสังเกตอาการของผู้เสพหรือติดสารระเหย
             ผู้เสพติดจะมีกลิ่นสารระเหยทางลมหายใจ และตามเสื้อผ้า มักง่วงเหงาหาวนอน ขาดสติสัมปชัญญะ มีอาการเหมือนคนเมาเหล้า พูดจาอ้อแอ้ เดินโซเซน้ำมูกไหล มักมีแผลในปาก ในที่ส่วนตัว อาจพบภาชนะ หรือวัสดุใส่สารระเหยซุกซ่อนไว้ หากพบขณะกำลังเสพอาจเห็นว่าที่นิ้วมือจะมีผ้าหรือสำลีซึ่งชุบสารระเหยพันอยู่และผู้เสพยกนิ้วนั้นขึ้นสูดดมอยู่ตลอดเวลา หรืออาจพบว่า กำลังดมถุงพลาสติกที่ใส่สารระเหย

                   
คนในครอบครัวควรเข้าใจธรรมชาติของผู้เสพติดหรือผู้ติดยามากกว่าจะจับผิด การมีความสัมพันธ์ที่ดีมีความเอื้อเฟื้ออาทรของคนในครอบครัวหรือผู้ที่ผู้ป่วยเคารพรัก จะเป็นเหตุให้เขายอมเล่าความจริงโดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตำหนิอย่างรุนแรง คนในครอบครัวควรนำความจริงและข้อผิดพลาดนั้นมาวิเคราะห์แล้วหาวิธีการช่วยเหลือผู้ติดยาอย่างถูกวิธี วิธีนี้จะเป็นการป้องกันการกลับไปติดยาซ้ำ (Relapse prevention) เพราะผู้ติดยามีโอกาสผิดพลาดอีกแม้จะเลิกได้แล้วก็ตาม โดยหากไม่เข้าใจถึงต้นเหตุของปัญหาที่ทำให้เขาติดยาก็จะยิ่งมีโอกาสมาก ดังนั้นคนในครอบครัวควรช่วยกันและแก้ปัญหาให้ถูกจุดที่ต้นตอของปัญหาที่แท้จริง

                     อย่างไรก็ตามหากผู้ปกครองไม่แน่ใจอาจจะใช้วิธีการตรวจสอบปัสสาวะก็ได้ แต่ต้องระวังเรื่องของผลบวกปลอมซึ่งเกิดจากการผิดพลาดของการใช้ยาแก้หวัดบางตัว อาจทำให้เข้าใจผิดกันได้